วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความหมายของการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว


โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ความหมายของการท่องเที่ยว
มีนักวิชาการหลายท่านเห็นพ้องต้องกันว่าการนิยามความหมายของคำว่าการท่องเที่ยว(Tourism) นั้นกระทำได้ยาก เพราะการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบกิจกรรมหนึ่งของนันทนาการ (Recreation) 1ซึ่งคล้ายกับกิจกรรมทางการกีฬา หรืองานอดิเรก และการใช้เวลาว่าง นอกจากนี้เมื่อการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับการเดินทาง จึงมีปัญหาตามมาว่า การเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยวต้องมีจุดประสงค์อย่างไร และเดินทางด้วยระยะทางเท่าใด[i]


ภาพถ่ายจากดาวเทียมยูโรปา แสดงสถานที่ท่องเที่ยวหมู่บ้านฮอลันดา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ภาพจากGoogle Earth ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงมีการพยายามที่จะให้คำจำกัดความของคำว่าการท่องเที่ยวหลายครั้งจากทั้งนักวิชาการและองค์กรต่างๆ จนในปี พ.ศ.2506 ได้มีการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องของการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และได้ยอมรับข้อเสนอเกี่ยวกับคำจำกัดความของการท่องเที่ยวจากนักวิชาการจากองค์การการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (IUOTO: The International Union of Official Travel organizations ต่อมาได้กลายเป็นองค์การท่องเที่ยวโลกในปี พ.ศ.2513 : World Tourism Organization, WTO) ว่าการเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยวต้องมีลักษณะดังนี้
1. เป็นการเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว
2. เป็นการเดินทางด้วยความสมัครใจ
3. เป็นการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตามที่มิใช่เพื่อการประกอบอาชีพและการหารายได้

ตัวอย่างการเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยว
- การเดินทางไปจาริกแสวงบุญ อาทิ นมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัด สระบุรี ,ไปทอดกฐิน
- การเดินทางไปพักฟื้น หรือรักษาตัว ณ สถานที่ต่างๆ
- การเดินทางไปร่วมชมการแข่งขันกอล์ฟที่ต่างประเทศ
- การเดินทางไปร่วมประชุมต่างๆ เยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง เป็นต้น

ตัวอย่างการเดินทางที่ไม่จัดเป็นการท่องเที่ยว
- การเดินทางไปตั้งถิ่นฐานถาวรในต่างประเทศ
- การเดินทางไปประกอบอาชีพ หรือไปทำงาน ต่างประเทศ
- การเดินทางโดยไม่เต็มใจ อาทิการเดินทางด้วยการถูกบังคับ ล่อลวง ขู่เข็ญ ลี้ภัยทางการเมือง

จากนิยามความหมายของการท่องเที่ยวที่มาจากการประชุมในปีพ.ศ.2506 นั้นที่ประชุมได้ให้คำนิยามเรียกผู้ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวว่า ผู้เยี่ยมเยือน (Visitor) ซึ่งจำแนกออกเป็น นักท่องเที่ยว (Tourist) และ นักทัศนาจร (Excursionist)2

นักท่องเที่ยว (Tourist)
คือผู้มาเยือนชั่วคราว และพักอาศัย ณ สถานที่ที่ไปเยี่ยมเยือนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้เวลาว่าง (เพื่อกิจกรรมนันทนาการ สุขภาพ การกีฬา วันหยุด การศึกษาหรือศาสนา) หรือเพื่อประกอบธุรกิจ เยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง ปฏิบัติภารกิจบางอย่างหรือการประชุม

นักทัศนาจร (Excursionist)
คือผู้มาเยือนชั่วคราว และพักอาศัย ณ สถานที่ที่ไปเยี่ยมเยือน ไม่เกิน 24 ชั่วโมง รวมถึงผู้เดินทางโดยเรือสำราญ (Cruise Travellers แต่ไม่รวมผู้โดยสารผ่าน (Transit)
อย่างไรก็ตาม การให้จำกัดความของทั้งสามคำด้านบนนั้น ยังไม่ครอบคลุมการเดินทางของบุคคลบางกลุ่มที่สามารถจัดเป็นการท่องเที่ยวได้ ในปีพ.ศ.2537 องค์การท่องเที่ยวโลก ได้เพิ่มเติมปรับปรุงนิยามของการท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสถิติแห่งองค์การสหประชาชาติ ใน 2 ประเด็น3 ได้แก่

1. Tourism comprises the activities of persons traveling to and staying in places outside their usual environment for not more than one consecutive year for leisure, business or other purposes

การท่องเที่ยว ประกอบด้วยกิจกรรมของผู้เดินทางไปยังสถานที่อื่นใดที่มิใช่ที่พักอาศัยปกติและมีการพักอาศัย ณ สถานที่นั้น ไม่มากไปกว่าหนึ่งปีอย่างต่อเนื่อง

2. The use of this broad concept makes it possible to identify tourism between countries as well as tourism within country. “Tourism” refers to all activities of visitors including both tourist (overnight visitors) and same-day visitors

การใช้แนวคิดที่กว้างนี้ทำให้มีความเป็นไปที่จะนิยมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกันการท่องเที่ยวภายในประเทศ การท่องเที่ยวหมายถึงกิจกรรมทุกๆ อย่างของผู้มาเยือนทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยว (ค้างคืน) และผู้มาเยือนแบบวันเดียว

1 Holloway J. Christopher. The Business of Tourism (London: Pearson Education Limited, 2002) p.1 and Lickorish J. Leonard and Jenkins L. Carson. An Introduction to Tourism (Oxford: Reed Educational and Professional Publishing, 1997) p.1.

2 Holloway J. Christopher, pp.2-3.
3 Lickorish J. Leonard and Jenkins L. Carson. An Introduction to Tourism, p. 36.